กินเจเมืองตรัง ถือศีลกินผักแบบเต๋า การผูกปิ่นโตกับโรงพระ และอาหารเทพเจ้า

การกินเจเมืองตรังไม่ได้เป็นแค่เทศกาลกินผักให้ครบ 9 วัน 9 คืน แต่เป็นช่วงเดียวของปีที่ชาวเมืองจะมารวมตัวกันครั้งใหญ่เพื่อรักษาวิถีดั้งเดิมตามความเชื่อแบบลัทธิเต๋า จนกลายเป็นประเพณีที่ผูกจิตใจของชาวตรังเข้าด้วยกันในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สำคัญที่สุด

——–

เมื่อปี 2562 เรามีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานเทศกาลกินเจ ที่เมืองตรัง ซึ่งเราขอออกตัวก่อนเลยว่าการกินเจกับเราค่อนข้างห่างเหิน เราไม่ได้ถือสัมผัสกับการศีลกินผัก แต่เราสนุกกับอาหารการกินช่วงเจเหมือนกัน โดยเฉพาะเมนูดั้งเดิมที่ปรุงด้วยวัตถุดิบเรียบง่ายอย่างเต้าหู้ แป้ง และผักชนิดต่าง ๆ มากกว่าโปรตีนหลากชนิดที่มีให้เลือกมากมายในยุคนี้

แล้วพอเจ้าบ้านที่ตรังออกปากชวนให้ตามไปดูวัฒนธรรมการถือศีลกินผักของเมืองตรัง ซึ่งถือว่ามีความดั้งเดิมที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ ทำให้เราตกปากรับคำแทบไม่ต้องคิด

วัฒนธรรมการถือศีลกินผักของตรังมากับบรรพบุรุษจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนเมื่อครั้งอพยพมาตั้งรกรากที่เมืองตรัง จนกลายเป็นประเพณีฝังรากลึกของชาวจีนในจังหวัดตรัง เป็นการรวมตัวกันเพื่อแสดงความสามัคคี แสดงความศรัทธาต่อเทพ ไม่ว่าจะเป็นชาวตรังที่อาศัยในจังหวัด และชาวตรังที่จากบ้านไปอยู่ที่อื่นก็จะกลับมาในช่วงนี้มากกว่าเทศกาลปีใหม่ หรือตรุษจีนซะอีก

เรียกว่าเป็นการรวมญาติคนตรังพร้อมหน้าที่สุดในรอบปีเลยล่ะ

ความตั้งใจของเราในการไปเยือนตรังครั้งนี้คือไปดูประเพณีถือศีลกินผัก และอาหารการกินในช่วงกินเจที่เราได้ไปสัมผัสมาในช่วงสั้น ๆ แค่ 6 วัน แต่ก็ทำให้เราติดใจทั้งตัวผู้คน อาหาร และบรรยากาศจนอยากกลับไปตรังอีก

ใครอยากรู้ว่าเทศกาลกินเจที่ตรังเป็นยังไง ตามเรามาเปิดโลกอาหารเจที่ตรังด้วยกันเลย

 

การผูกปิ่นโต และกองทัพโรงครัว

เมื่อมีการรวมตัวของคนจำนวนมากในคราวเดียว เรื่องเตรียมอาหารการกินย่อมเป็นเรื่องใหญ่ตามไปด้วย ยิ่งเป็นช่วงพิธีกรรมเลยมีทั้งอาหารคน และอาหารเทพ

ที่สำคัญที่ตรังยังมีประเพณีช่วงเทศกาลกินเจแบบที่เราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นั่นคือการ “ผูกปิ่นโตกับโรงพระ”

ปกติศาลเจ้าจะมีโรงทานทำอาหารไว้ให้คนที่ทานเจได้แวะเวียนเข้ามาทานและบริจาคเงินสนับสนุนอยู่แล้ว แต่คนที่นี่เลือกบริจาคเงินให้กับโรงพระเพื่อนำปิ่นโตมารับอาหารเจที่ปรุงโดยทีมครัวของโรงพระ เพื่อนำกลับไปทานที่บ้านกับครอบครัว ซึ่งหากบ้านไหนผูกปิ่นโตกับศาลเจ้าไว้เป็นประจำ ก็จะถือเป็นธรรมเนียมที่ครอบครัวจะทำต่อเนื่องกันทุกปี โดยเฉพาะการผูกปิ่นโตกับ “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” หรือ “โรงพระกินผัก” แบบที่ชาวตรังเรียก ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่เราไปปักหลักทำความรู้จักกับการถือศีลกินผักแบบตรังในรอบนี้ด้วย

ศาลเจ้านี้ถือว่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง ก่อตั้งโดยชาวจีนฮกเกี้ยนในชุมชนท่าจีนเมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว ก่อนย้ายมาที่ดินใหม่บนถนนท่ากลาง ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางและใกล้กับตัวเมืองมากขึ้น ตัวศาลเองถึงแม้จะเป็นปูนแต่ก็ยังคงความดั้งเดิมไว้มาก ๆ เพราะไม่มีการต่อไฟฟ้าไว้ในศาลเลย ดังนั้นการทำพิธีต่าง ๆ ในศาลเจ้าจึงทำท่ามกลางแสงเทียนเพียงอย่างเดียว

กำหนดการกินเจในปีนั้นคือระหว่างวันที่ 28 ก.ย. 7 ต.ค. ซึ่งเริ่มด้วยพิธีการยกเสาเต็งโก อัญเชิญเทพบนสวรรค์ทั้ง 9 องค์ (กิวอ๋อง) ลงมาโปรดมนุษย์ในช่วงกินเจ ในขณะที่เราไปถึงตรังวันที่ 3 ต.ค. ซึ่งทันกับพิธี “ล้างเค่ว” หรือล้างเกี้ยว เพื่อเตรียมเกี้ยวสำหรับนำ “พระออกเที่ยว” หรือการนำเทพออกโปรดสาธุชนในวันรุ่งขึ้น

พิธีล้างเค่ว หรือล้างเกี้ยว ด้วยการจุดประทัดที่ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย จังหวัดตรัง

พิธีล้างเค่ว หรือล้างเกี้ยว ด้วยการจุดประทัดที่ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย จังหวัดตรัง

หลักจากที่ดูพิธีล้างเค่ว เราก็เข้าไปห้องครัวของโรงทานที่เรามองว่าเป็นเหมือนกองบัญชาการใหญ่คอยดูแลเรื่องปากท้องของสาธุชนคนตรังที่ผูกปิ่นโตกับโรงพระ ซึ่งด้านในเต็มไปด้วยกองทัพคนครัวกว่า 70 คน ไล่เรียงตั้งแต่คนเตรียมวัตถุดิบ พ่อครัว ผู้ช่วย คนลำเลียงอาหาร คนจัดปิ่นโต โดยมี แม่สุนีย์ ยิ้วเหี้ยง วัย 59 ปี เป็นหัวเรือใหญ่จัดการทุกอย่างที่นี่

“เมื่อก่อนแม่ทำหมูย่างกับสามี แล้วก็ทำโต๊ะจีน มีลูกค้าไหนเรียกก็ไปทำ ก่อนจะได้รับเลือกให้มาทำอาหารเจให้ที่นี่” แม่สุนีย์เล่าให้ฟัง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้แม่มีความรู้เรื่องการทำอาหารจีนหลากหลายสูตร โดยหลังจากที่สามีเสียชีวิต แม่ก็ทำกิจการต่อรวมทั้งการทำอาหารเจที่โรงพระกิวอ่องเอี่ยมานับสิบปี ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่ท้าทายไม่น้อย เพราะเป็นการทำอาหารเลี้ยงคนเป็นพันคนต่อวันถึง 3 มื้อ และยังต้องทำอาหารถวายเทพสำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอด 9 วันด้วย

“แม่ต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการเตรียมอาหารก่อนคนจะมารับ เช่นถ้าเริ่มรับอาหาร 6 โมงเช้า เราก็ต้องเริ่มเตรียมปรุงอาหารตั้งแต่ตี 2 เมื่อก่อนแม่ทำกับพ่อ ต้องนอนเที่ยงคืน ตื่นตีสองครึ่ง แม่นอนตรงโรงครัว ส่วนพ่อก็นอนตรงที่วางข้าวสารนั่นแหละ ต่อให้เราทำเสร็จ เราก็ต้องคอยดูปริมาณอาหารและจำนวนคนที่มาจริง ๆ ด้วยว่าเพียงพอไหม บางทีคนก็มาน้อย บางทีก็มาเยอะ ก็ต้องเตรียมต้องทำเพิ่ม เพราะบางคนก็กิน 7 วัน บางคนกิน 3 วันสุดท้าย ก็ต้องเพิ่มจำนวนให้พอ” แม่สุนีย์บอก

คนที่มาผูกปิ่นโตก็มีหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่กินเจทั้งบ้าน ถึงเค้าแตกครัวไปอยู่ที่อื่น ก็ยังกลับมาผูกปิ่นโตกับโรงพระ ปู่ย่าตายายก็กินมาเป็น 40-50 ปี ปิ่นโตที่มาก็มีตั้งแต่ 4 แถว 5 แถว ไปจนถึง 7 แถว ใส่กับข้าวเต็ม กินได้ทั้งบ้าน ซึ่งปีนี้ 2564 เราได้ข่าวว่ายอดคนผูกปิ่นโตกับโรงพระกิวอ๋องเอี่ยมีมากเกือบ 4,000 ชุดเลยทีเดียว

ส่วนพ่อครัวแม่ครัวที่มาทำงานที่นี่ ปกติจะมีงานอื่นอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาก็จะขอมาทำงานช่วงกินเจโดยมีค่าแรงตอบแทนให้ แม้จะไม่มากแต่ทุกคนก็มาเพราะอยากทำงานถวายเจ้า ซึ่งเป็นแค่ช่วงเดียวของปีที่ทุกคนจะทิ้งงานอื่น หรือขอลางานเพื่อมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

“มีทั้งพ่อครัวแม่ครัวจากสตูล พัทลุง กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียงมาทำประจำ งานเหนื่อยนะ เริ่มตั้งแต่ตี 2 หมุนเวียนไปทั้งวัน แต่เขาก็จะมา โทรมาถามเลยว่าปีนี้แม่มาไหม เพราะเขารู้สึกภูมิใจที่ได้มา ​กินเจบันดาลให้เราแข็งแรง เป็นการทำบุญ ไม่มีทุกข์ พอทำงานด้วยกันก็มีความสุข” แม่สุนีย์เล่าไปยิ้มไป

สูตรอาหารเจที่คงความดั้งเดิม

ในยุคที่อาหารมีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราลองได้ตลอด แต่สำหรับอาหารเจที่ตรัง ทีมงานจะพยายามรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด โกเหล็ง-พิชญะ ศิริศุภนนท์ ทีมงานผู้บริหารท้องถิ่น หัวหน้าทีมที่ดูแลเรื่องงานเจของโรงพระแห่งนี้มานานเกือบ 10 ปี บอกว่า หัวใจหลักของโรงครัวศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ยคือความดั้งเดิมของสูตรอาหารของที่นี่ ซึ่งเป็นแบบฮกเกี้ยน เป็นตำรับอาหารดั้งเดิม แกงจืด ผักต้ม ผัดหมี่ ข้าวต้ม เคาหยุกก็มี แทบจะไม่มีอาหารประยุกต์ สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของอาหารเจตรังคือการสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น และความเป็นครอบครัวที่ทุกคนรู้จักกันหมด คนจึงไม่ได้คาดหวังความหลากหลายอาหารของโรงพระที่นี่

“ประเพณีนี้มีมา 150 ปีเราเคร่งครัดเรื่องประเพณีมาก​ สูตรอาหารเจโบราณไม่ได้มีเยอะอยู่แล้ว เราเน้นการกินผัก มีฟักเขียว ฟักทอง ถั่วงอก เผือก มัน เต้าหู้ อย่างข้าวต้มเราก็ใส่เผือกใส่มัน กินกับอาหารง่ายๆ อย่างพริกเกลือ​ เต้าหู้ยี้ กวางฉ่าย บางมื้อก็ผัดผักง่าย ๆ อย่างผักบุ้งเต้าเจี้ยว ผัดกวางตุ้ง มีโปรตีนบ้าง ส่วนกะเพราถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในบทบัญญัติข้อห้ามผัก 5 ชนิด กุยช่าย ต้มหอม ผักชี หัวหอม และกระเทียม แต่เราก็เลี่ยงที่จะไม่ใช้กะเพราในอาหารเจเพื่อคงความดั้งเดิมเอาไว้” โกเหล็งบอก

การผูกปิ่นโตที่โรงพระรับบริจาคอยู่ที่คนละ 700 บาทตลอด 10 วันถือว่าเป็นความท้าทายของโรงพระเองเช่นกันที่จะการบริหารจัดการงบประมาณ และวัตถุดิบให้เพียงพอกับคนที่มาลงชื่อผูกปิ่นโต แต่ละปีจะมีคนมาลงชื่อไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ที่เคยพีคสุดคือ 5,400 คน แต่ตอนนี้มีโรงพระเยอะขึ้น คนก็เริ่มแยกย้ายไปอยู่กับศาลเจ้าอื่นที่ไม่ได้ผูกปิ่นโตด้วย

“เราใช้ข้าวถึง 45 กระสอบต่อวัน กระสอบละ 40 โล เท่ากับ 1.8 ตันต่อวัน สั่งหมี่มาอีกเกือบ ๆ 4 ตัน เผือกราคาแพงโลละ 80-90 ในช่วงนี้เราก็ต้องซื้อ ศาลเจ้าก็อยู่ได้ด้วยแรงศรัทธา คนบริจาคช่วยให้ศาลเจ้ายังคงอยู่” โกเหล็งเผย

ขณะที่แม่สุนีย์บอกว่า เมื่อก่อนไม่มีโปรตีนสำเร็จ ก็จะมีแค่เต้าหู้ทอด กินกับเมนูผักเช่น จับฉ่าย ผัดถั่วงอก ผักกาดดอง ยังมีแกงส้มแบบใต้ที่ใส่ผักบุ้ง กะหล่ำ ถึงจะเริ่มมีโปรตีนสำเร็จรูปเข้ามาใช้มากขึ้น แต่ครัวก็ไม่ได้ทำอาหารรูปแบบใหม่เท่าไหร่ เมื่อก่อนที่โรงพระนี้ยังต้องใช้เตาถ่านในการทำอาหาร ก่อนที่จะสร้างโรงทานใหม่เมื่อปี 2531 และเปลี่ยนมาใช้ระบบแก๊ส ซึ่งทุกวันนี้ใช้แก๊สวันละ 12 ถัง และต้องเปิดน้ำหล่อให้ถังเย็นตลอดเวลา

นอกเหนือจากได้ชิมสูตรอาหารดั้งเดิมแล้ว เรายังมีโอกาสไปดู โรงงานทำเต้าหู้เทพประสิทธิ์ ในบรรยากาศเก่าขลัง แผงเตาอั้งโล่ตั้งเรียงรายอยู่ในช่วงที่โรงงานนี้พักการผลิตเตามาผลิตเต้าหู้ให้ทันต่อความต้องการในช่วงเจ

เราได้คุยกับป้าปุ๊ย หนึ่งในคนทำเต้าหู้ของที่นี่มานานกว่า 20 ปีเล่าให้ฟังว่า โรงงานจะทำเต้าหู้ส่งตามตลาดต่างๆ รวมทั้งส่งโรงพระกิวอ๋องมากว่า 30 ปีแล้ว โดยขายตั้งแต่ก้อนละไม่กี่สตางค์ ตอนนี้ขายก้อนเล็กก้อนละ 6 บาท และก้อนใหญ่ 9 บาท

เราชอบการจัดการพื้นที่เล็ก ๆ แต่สามารถทำทุกอย่างได้ตั้งแต่ต้นจนจบของที่นี่ ตั้งแต่การแช่ถั่วเหลืองจนนิ่ม นำไปบดคั้นน้ำใส่หม้อต้มสแตนเลส เมื่อต้มได้ที่ก็จะตักลงมาพักและทำให้น้ำเต้าหู้จับตัวเป็นก้อน ก่อนเทลงบนผ้าขาวบางในพิมพ์ไม้ที่แบ่งเป็นช่องขนาดเล็ก ๆ ป้าปุ๊ยบรรจงพับผ้าเป็นก้อนกลมทับด้วยแผ่นไม้ตั้งซ้อนกันหลายชั้น ภายในเวลาไม่กี่นาทีก็ได้แผ่นเต้าหู้สดกินแล้ว นอกจากนี้ที่ยังมีเต้าหู้แบบทอดบนเตาถ่านให้เลือกซื้อด้วย

เทพเจ้าเตา และการต่อสู้กับไฟของพ่อครัว

ก่อนที่คนครัวจะเริ่มทำอาหาร จะมีพิธีกรรมสำคัญของคนครัวที่ตรังนั่นคือการบูชา “เทพเจ้าเตา” ไม่ว่าจะเป็นครัวใหญ่ ครัวเล็ก ร้านขนม หรือโรงผลิตอาหารในเมืองตรัง จะต้องมีการบูชาเทพเจ้าเตาเสมอ เช่นเดียวกับที่ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย เทพเจ้าเตาก็จะตั้งอยู่ที่ฐานหม้อต้มน้ำสำหรับนึ่งข้าว

เทพเจ้าเตาไฟ เป็นหนึ่งในเทพประจำบ้านตามความเชื่อของชาวจีนฮกเกี้ยน มักจะพบเห็นในบ้านโบราณ ถือเป็นเทพที่คอยช่วยเรื่องดูแลสุขภาพของคนในบ้าน แม้จะมีการพัฒนาบ้านเป็นยุคใหม่มากขึ้นทำให้การไหว้เทพเจ้าเตาค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไป แต่คนครัวที่ตรังยังคงให้ความสำคัญกับเทพเจ้าเตามาก และมักออกแบบให้พื้นที่ครัวต้องมีเทพเจ้าเตาอยู่เสมอ

ในช่วงเทศกาลกินเจ โรงพระจะมีการบูชาเทพเจ้าเตาสองครั้งใหญ่ๆ คือตอนเปิดเตาในวันเริ่มต้นเทศกาลเจ และตอนปิดเตาหลังเสร็จสิ้นการกินเจ ซึ่งคนครัวที่นี่เชื่อว่าการไหว้เทพเจ้าเตาจะช่วยเรื่องขวัญกำลังใจของคนครัวให้ทำงานได้ราบรื่นเมื่อมีงานใหญ่ ๆ เช่นนี้

โกหยิ่น หนึ่งในพ่อครัวใหญ่ของโรงครัวที่นี่บอกว่า ที่นี่มีทั้งหมด 25 เตา ทุกเตาจะเริ่มปรุงพร้อมกันโดยพ่อครัวรอบละ 12 คน โดยจะแยกเตาผัด และเตาต้มคนละจุด ซึ่งอาหารของที่โรงพระจะกำหนดเลยว่าแต่ละวันจะมีแกง ผัด นึ่ง หรือหมี่ โดยมีข้าวต้มเป็นมื้อกลางวัน เวลาทำก็จะจัดเป็นระบบ คนผัดก็จะผัดอย่างเดียวโดยมีผู้ช่วยเป็นคนปรุงรส ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่จะต้องช่วยคำนวณทั้งปริมาณอาหาร และปริมาณเครื่องปรุงให้สมดุล หรือให้อร่อยนั่นเอง

ส่วนข้าวจะใช้เวลานึ่งรวดเดียวพร้อมกัน 3 เตา โดยใช้เวลานึ่ง 1 ชั่วโมง ขณะที่มื้อเที่ยงของโรงพระที่นี่จะกำหนดเลยว่าเป็นข้าวต้มกับกับข้าวง่าย ๆ อย่างผักกาดดอง​ ความพิเศษคือข้าวต้มที่นี่จะมีความพิเศษ เพราะจะใส่เผือก และมันเทศด้วย โดยทีมครัวบอกว่า ที่นี่เป็นโรงพระเดียวที่ยังปรุงข้าวต้มสไตล์โบราณแบบนี้ เมื่อทำเสร็จก็จะมีการแยกอาหารสำหรับเทพและอาหารสำหรับคนซึ่งมีปริมาณเยอะกว่ามาก โดยนอกจากจะใส่หม้อพักไว้แล้ว โรงพระกิวอ๋องเอี่ยยังเลือกใช้โอ่งมาใส่อาหาร เพราะสามารถเก็บอุณหภูมิความร้อนได้นานนั่นเอง

สาเหตุที่ต้องใช้พ่อครัวมากกว่าแม่ครัวในการปรุงอาหาร ก็เพราะการทำอาหารกับกระทะใหญ่ต้องใช้แรงเยอะ ต้องสู้กับความร้อนหน้าเตาไฟ ทำให้พ่อครัวเหมาะกับงานมากกว่า เราได้มีโอกาสคุยกับพ่อครัวหลายคน ทำให้รู้ว่าแต่ละคนยังมีพื้นเพภูมิหลังหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัวเชฟใหญ่จากโรงแรมดัง หรือจะเป็นพี่วินมอเตอร์ไซค์ และเป็นม้าทรงก็มี!

“ผมชอบดูคนทำกับข้าวตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาไปตามงานศพ งานแต่งก็จะไปดูเค้าทำกับข้าว ปกติจะขับวินมอเตอร์ไซค์ แต่ช่วงเจก็จะมาช่วยทำ เราภูมิใจทำอาหารให้เค้ากิน เรามองว่าการทำอาหารต้องใส่ใจ ต้องรู้เวลา กะระยะให้เป็น เข้าใจอาหาร และรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ที่สำคัญคือต้องควบคุมไฟให้เป็น” โกฮีด พ่อครัววัยเกือบ 60 ปีที่ยังคงจับตะหลิวแข็งขันมาก

“ครอบครัวผมทำกับข้าวขายอยู่แล้ว รู้ว่าผัดอะไรใช้ไฟอ่อนไฟแรง เช่นเดียวกับวิธีการปรุง อย่างเคาหยก เราอยากจะให้มีรสจัดหน่อย ก็ใส่เต้าหู้ยี้ ไม้หอมพะโล้เพิ่ม และที่ขาดไม่ได้ คือน้ำตาลปี๊ป หรือน้ำตาลมะพร้าว เพราะจะทำให้รสกลมกล่อมน่ากิน ทุกวันนี้กินเจมา 40 ปี แล้วก็เป็นร่างทรงมา 40 ปีเหมือนกัน เราไม่ได้เลือกเป็นเรา ท่านเลือกเราเอง บางทีผัด ๆ อยู่ท่านก็ลงร่าง ทิ้งกระทะไปเลยก็มี” โกชาติ หนึ่งในพ่อครัวเล่าให้เราฟัง

พิธี “โข้กุ้น” และพระออกเที่ยว

หนึ่งในสำรับอาหารที่ขาดไม้ได้เลยของหารกินเจที่ตรังคือสำรับอาหารสำหรับพิธี “โขกุ้น”

ตามคำอธิบายของโรงพระกิวอ๋องเอี่ย และ โต้ง-เอกอนันต์ หนึ่งในอาสาที่เข้ามาทำงานเป็นคนดำเนินพิธีกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลกินเจของศาลเจ้าเล่าให้ฟังว่า พิธีโข้กุ้นคือพิธีเลี้ยงอาหาร แจกจ่ายอาหาร ปูนบำเหน็จ เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจแก่วิญญาณทหารประจำทิศทั้ง 5 ที่มาช่วยอารักขาเทพทั้ง 9 องค์ รวมทั้งเทพเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือ “หยกอ๋อง” โดยพิธีนี้จะจัดในช่วงวันเกิดเทพ หรือเทศกาลกินเจเท่านั้น ซึ่งช่วงกินเจที่ตรังจะจัดพิธีนี้ในวันขึ้น 3 ค่ำ 6 ค่ำ และ 9 ค่ำซึ่งเป็นคืนสุดท้ายที่จะมีพิธีส่ง “หยกอ๋อง” กลับสวรรค์ด้วย

ที่กิวอ๋องเอี่ย พิธีจะจัดกลางลานกว้างของโรงพระที่มีการตั้งเสาเต็งโก เสาไม้ไผ่ห้อยตะเกียงสัญลักษณ์เทศกาลกินเจ บอกทิศให้วิญญาณทหารมาช่วยรักษาอาณาบริเวณ เสื่อผืนใหญ่ถูกวางอยู่กลางลาน มีถ้วยวางเรียงรายตามขอบพร้อมช้อนและตะเกียบครบทุกด้าน ก่อนเริ่มพิธีจะมีการนำอาหารทั้งหมดมาวางที่ด้านหน้าแท่นพิธี ซึ่งสำรับคือ ข้าว หมี่ ผัดผัก น้ำแกง และที่ขาดไม่ได้สำหรับพิธีโข้กุ้นในตรังคือ “โอต๊าว”

สูตรโอต้าวแบบเจของคนตรังดั้งเดิมจะทำด้วยเผือกกวนกับถั่วจนเข้ากันให้เหนียวแน่น ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะกวนจากเผือกชิ้น ๆ แต่ต้องใช้เวลานานมาก ปัจจุบันจึงใช้แป้งมันช่วยกวนกับเผือกและเครื่องต่าง ๆ ในกระทะจนเหนียว ซึ่งเหตุผลที่พิธีโข้กุ้นของตรังมีเมนูโอต้าวห้ามขาดก็เพราะมีความเชื่อว่า ความเหนียวแน่นของโอต้าวจะทำให้ทหาร และทุกคนที่ร่วมพิธีมีความสามัคคี กลมเกลียว รักกันเหนียวแน่น

อีกเมนูที่มาตรังแล้วต้องไม่พลาดทั้งเวอร์ชั่นเจ และเวอร์ชั่นเนื้อสัตว์ (กินชอ) นั่นคือหมี่หนำเหลี่ยว หรือหมี่น้ำเลี้ยว ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวคล้ายกับราดหน้าแต่ต่างกันที่เครื่อง โดยเวอร์ชั่นเจ ตัวน้ำเลี้ยวจะทำจากเต้าหู้ เห็ดหอม เนื้อโปรตีน แล้วปรุงรสน้ำตาล ซีอิ้ว เกลือ พริกไทย ใส่แป้งลงไปเพิ่มความข้นให้กับน้ำราด ส่วนเวอร์ชั่นปกติจะใส่หมู ตับหมู เนื้อปู กุ้งแห้ง

อีกเหตุผลที่หมี่หนำหล่อถูกนำมาเป็นอาหารประจำสำรับเจเมืองตรังก็เพราะเป็นอาหารเส้น สื่อถึงอายุยืนยาวนั่นเอง นอกจากนี้ยังเมนูมงคลอื่นๆ อย่างเช่นผัดผักทองที่ชื่อเป็นมงคลด้วย

หนึ่งในภาพจำของพิธีเจในภาคใต้ก็คือขบวนแห่พระของศาลเจ้าต่าง ๆ ที่ออกเดินทางไปตามท้องถนน ซึ่งศาลเจ้ากิวอ๋องก็มีการนำพระออกโปรดสาธุชนตามท้องถนนในเมืองเช่นกัน​ โดยคนท้องถิ่นจะเรียกกันคุ้นปากว่า “พระออกเที่ยว”

นอกจากภาพสีสันของเหล่าม้าทรงที่มีทั้งเลือดไม่เลือดทั้งหลายแล้ว สิ่งที่น่าสนใจระหว่างทางคือการที่ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะรับพระอยู่หน้าบ้าน โดยมีของถวายหลัก ๆ เป็นผลไม้ ข้าวสาร น้ำชา ซึ่งเมื่อพระ (เทพองค์ต่าง ๆ ที่เป็นร่างทรง) เดินผ่านหน้าบ้าน ก็จะเข้าไปทักทายทาย หยิบผลไม้ หรือข้าวสาร ทำพิธีให้กับคนที่มารอรับพระอยู่ เหมือนกับมีเทพมาให้พรถึงตัวเลย

เราเห็นหลายบ้านพาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านมารอรับพระออกเที่ยวกันพร้อมหน้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะมานั่งรอกันอย่างคึกคัก บางบ้านมีผู้ใหญ่บางคนที่ออกมาด้านนอกไม่ได้ ก็จะให้พระเดินเข้าไปโปรดถึงในบ้านด้วย

ขนมไหว้เจ้า องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้

ในช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากอาหารคาวแล้ว อาหารหวานก็เป็นสิ่งสำคัญบนหน้าหิ้งพระเช่นกัน ชาวจีนฮกเกี้ยนในจังหวัดภาคใต้ยังคงให้ความสำคัญกับการไหว้เจ้าด้วยขนม เช่น ขนมเต่า (อังกู้) ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย) และ “บิเจี่ยน” หรือผลไม้เชื่อมแห้ง

แต่หน้าที่นี้ไม่ได้ตกอยู่กับคนครัวของโรงพระ หากแต่เป็นช่วงที่ร้านขนมเก่าแก่ของท้องถิ่นจะเป็นผู้ที่ก้าวเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งความท้าทายของคนทำขนมในช่วงกินเจถือว่าไม่แพ้กับคนครัวที่ทำงานแข่งกับเวลาเลย เพราะต้องทำขนมให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่กระชั้นที่สุด

เรามีโอกาสได้ไปเยือนร้านขนมเก่าแก่ประจำจังหวัดตรงอย่าง “เจี่ยหลงติ่น” ซึ่งทำร้านขนมนี้เป็นร้านขนมแบบฮกเกี้ยนแท้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในตรัง ทำติดต่อกันมาถึง 3 รุ่น แล้ว

ความเท่หนักของร้านนี้นอกจากความเก่าแก่ก็คือชื่อ “เจี่ยหลงติ่น” ยังแปลว่า “ครัวเทวดา” ซึ่งเหมาะมากกับการทำขนมให้เทพเจ้าในเทศกาลกินเจเหลือเกิน

โกชุ่น-โชติอนันต์ เจ้าของร้านวัย 60 ปีบอกว่า ปกติที่ร้านจะขายขนมจีนท้องถิ่นทั้งหลาย โดยมีขนมชูโรงเป็นขนมเต้าส้อ ขนมเกลียว ขนมรากบัวเค็ม ขนมรากบัวขาว ขนมกรอบเค็ม และขนมหน้าแตก ซึ่งคล้ายกับคุกกี้ แต่พอเป็นช่วงเจก็ต้องหยุดการผลิตทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนมาทำ ขนมเต่า หรือขนมอังกู้ เพื่อส่งให้กับศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ยโดยเฉพาะ มีบางครั้งมีเจ้าอื่นมาสั่งให้ทำ แต่ก็ทำไม่ทัน ต้องปฏิเสธไปก็มี

“ถ้าเป็นจังหวัดอื่น จะไหว้ขนมเต่ากันช่วงก่อนไหว้พระจันทร์ ช่วงก่อนสาร์ทจีน แต่ที่ตรังจะไหว้ขนมเต่ารวมไปในเทศกาลกินเจรอบเดียว เพราะถือว่ามาทำบุญไหว้บรรพบุรุษในช่วงเดียวกันไปเลย” โกชุ่นเล่าให้ฟัง โดยการถวายเต่าให้พระในช่วงกินเจ หรือช่วงวัดเกิดพระ ก็เหมือนกับการเอาบุญเสริมให้พระ เพื่อให้ตัวเราอายุยืนด้วย”

ใครที่เคยเห็นขนมอังกู้ที่อื่นมาอาจจะเคยเห็นภาพการตกแต่งสวยงามแบบที่ภูเก็ต หรือปีนัง แต่สำหรับที่นี่ ขนมเต่าถูกปั้นขึ้นอย่างง่าย ๆ โดยกรรมวิธีการทำจะเริ่มจากการนำแป้งมานวดพร้อมกับสีผสมอาหาร ก่อนจะปั้นกลมแยกหัว ตัว หาง เท้า พอประกอบร่างเสร็จก็ใช้เข็มเจาะรูบนแป้งเพื่อให้แป้งพองตัวตอนนำไปนึ่ง

ขนมอีกตัวที่ร้านต้องทำให้ทันในช่วงนี้ก็คือ ขนมบิเจี่ยน ซึ่งจะพบแต่ที่ศาลเจ้าฮกเกี้ยน โดยสูตรที่ร้านจะไม่ใช้ผลไม้เชื่อม แต่จะเป็นขนมบิเจี่ยนที่เป็นดอกไม้ทำจากแป้งผสมน้ำเชื่อม ปั้นเป็นกลีบเล็กๆ ประกอบขึ้นเป็นดอกไม้ นำไปแปะบนกระดาษที่ตั้งบนแท่นบูชาของโรงพระ โดยทำครั้งละ 18 ชุดไว้วางหน้าแท่นบูชาพระ และต้องเปลี่ยนทั้งหมด 4 รอบในช่วงเทศกาลเจ

โกชุ่นบอกว่า ขนมพวกนี้ ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็จะไม่ได้ขายเลย ก็จะเน้นทำแต่ขนมโบราณของทางร้าน ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาถามหาขนมโบราณมากขึ้น ไหว้พระเยอะขึ้น เพราะเริ่มมีศาลเจ้าเยอะขึ้น มีพระ (ร่างทรง) เยอะขึ้น ทำให้เริ่มมีการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมต่าง ๆ มาจัดใหม่อีกครั้ง มีทั้งคนไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งเป็นการบอกกันปากต่อปากให้มาสั่งร้านนี้

“ปกติก็ไม่ได้รู้ปฏิทินจีนหรอก แต่เค้ามาสั่งล่วงหน้า ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนสั่ง ก็จะไม่ได้ทำ แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตรังศาลเจ้าเยอะ” โกชุ่นพูดปนขำน้อย ๆ

เราชอบภาพตรงหน้าที่ผู้ชายทั้งหมดนั่งปั้นดอกไม้อย่างแข็งขัน รวมทั้ง อาร์ม-ณัฐวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 4 ที่กำลังเรียนรู้การทำขนมของที่บ้านไปด้วย โดยอาร์มมองว่า สูตรขนมโบราณของที่บ้านนั้นเหมือนเป็นสินทรัพย์ที่อยากดูแลต่อ

นอกเหนือจากขนมของร้านแล้ว ชาวบ้านก็เป็นอีกส่วนที่สนับสนุนเรื่องขนมให้โรงพระเช่นกัน อย่างเช่นอาม่าคนหนึ่งที่จะเดินทางมาทำขนมอี๋แบบสด ๆ ถึงโรงพระ ซึ่งขนมอี๋ หรือบัวลอยจีนก็จะเป็นอีกหนึ่งขนมมงคลที่ให้ความหมายเรื่องความกลมเกลียว การรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน (เรามักเห็นในงานแต่งนั่นแหละ) โดยคนที่โรงพระเล่าว่า การทำขนมอี๋มีมาตั้งแต่สมัยกองทัพของกวนอู ผู้ให้ทหารทุกคนกินขนมอี๋ก่อนรบเพื่อสร้างความกลมเกลียว อีกทั้งยังช่วยให้อยู่ท้อง เพราะขนมอี๋ทำจากแป้งข้าวเหนียวที่ช่วยให้อิ่มนาน

สารพัดอาหารเจ

อีกอย่างที่สนุกของการมาที่นี่คือทั้งเมืองขายอาหารเจ และมีให้เลือกหลากหลายมาก แค่ที่โรงพระกิวอ๋องเอี่ยเอง ก็เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเจให้เป็นเหมือนตลาดนัดอาหารเจ มีพ่อค้าแม่ค้ามาทำอาหารเจขายสารพัด แต่ที่เราแนะนำว่าห้ามพลาดคือขนมตือคาโค หรือขนมขาหมูของร้านจีหนุ่มที่จะมาเปิดขายเฉพาะกิจที่ศาลเจ้าในช่วงเจ

ขนมตือคาโคของร้านจีหนุ่ม เป็นร้านเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ตอนนี้ทำมาถึงรุ่นลูกที่มีพี่น้องสามคนช่วยกันทำร้านอย่างแข็งขัน ขนมของร้านนี้ได้รับความนิยมมากขนาดที่คนต้องต่อคิวซื้อแบบทอดเท่าไหร่ก็หมด

คุณอิม-เสาวนีย์ เจ้าของร้านรุ่นลูกบอกว่า เมื่อก่อนไม่มีอาหารกินเล่นแบบเจเยอะขนาดนี้ ตือคาโคจึงเป็นขนมกินเล่นช่วงกินเจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จริงๆ แล้วคำว่าตือคาโคเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แต่ก็ถือเป็นขนมที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนทั่วไป ที่อื่นจะมีตัดแปลงใส่ถั่ว ข้าวโพด หรือพริกไทย แต่สูตรของที่ร้านจะเป็นแบบดั้งเดิมเลย คือเป็นแป้งผสมใส่เผือกทอดจนได้ที่ นำมาทานกับน้ำจิ้มค่อมเจื้อง หรือกำเจือง ซึ่งเป็นน้ำจิ้มซิกเนเจอร์ของชาวตรังพบได้ในทุกร้านอาหารจีน

สำหรับคนที่ไม่รู้จักน้ำจิ้มค่อมเจื้อง เป็นน้ำจิ้มที่กินได้กับทุกอย่างของที่ตรัง ทำจากมันเทศ ถั่วลิสงต้มสุกและบดรวมกันจนละเอียด ปรุงรสด้วยน้ำส้ม เกลือ น้ำตาล มีรสเปรี้ยวนำ หวานตาม มีสีส้มแดงเหมือนซอสมะเขือเทศผสมซอสพริก คนที่นี่มักไว้จิ้มทานกับของทอด หรือติ่มซำ หรือใช้ทำราดขนมปากหม้อแบบตรังด้วย

ถ้ามีโอกาสฮอปปิ้งไปตามจุดต่าง ๆ ของเมือง เราแนะนำให้ไปวิกเพชร เป็นศูนย์รวมอาหารขนาดเล็ก ๆ ของตรังที่มีคนแวะเวียนไปนั่งทานอาหารหรือซื้อกลับบ้านทั้งวัน เราได้มีโอกาสไปนั่งกินปากหม้อเมืองตรัง ไส้ด้านในปกติจะเป็นไส้หมู กุ้งแห้ง แต่ช่วงเจจะเปลี่ยนมาใช้ไส้โปรตีนผัดหัวปังกวน (มันแกว) กินคู่กับน้ำจิ้มค่อมเจื้อง

ในตลาดเรายังไปเจอขนมครกไส้แปลกตาอย่างขนมครกไส้ปังกวนใส่กุ้งแห้ง กุ้งสด และพริกไทย ซึ่งมีความคล้ายกับขนมครกในแถบชวา เวลากินให้โรยน้ำตาลด้วย แต่ว่าเรากินกับไส้เปล่า ๆ ก็อร่อยแล้ว

ข้าวผี และการส่งเทพกลับสวรรค์

อีกหนึ่งการเตรียมอาหารจากโรงครัวก็คือการเตรียมอาหารสำหรับไหว้ผี ที่เรียกว่า “ข้าวผี” ซึ่งจะเป็นการทำกับข้าวให้กับบรรดาครอบครัวที่ต้องการอาหารสำหรับไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีทั้งอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารที่ยังไม่ได้ปรุง เช่นข้าวสารที่ถือว่าเป็นเสบียงไปกินในอีกภพ ก็จะมีการวางอาหารเจลงไปอย่างหัวไชโป้วดองเค็มทั้งลูกเป็นกับข้าว

ถาดอาหารที่ยังไม่ได้ปรุงเหล่านี้ ถ้าไม่ปักชื่อไว้ ก็จะเป็นการอุทิศให้กับสัมพเวสี วิญญาณเร่รอนที่อดอยากอยู่ ซึ่งตามความเชื่อก็จะมารวมตัวกันที่โรงพระเพื่อรับอาหารในช่วงนี้ โดยนอกจากอาหารแล้ว ยังมีการนำกระดาษตกแต่งสวยงามมาไหว้และเผาไปให้บรรพบุรุษใช้ในภพหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์หลังโตที่มีคนรับใช้พร้อม หรือสวนผลไม้ไว้ปลูกกินได้ตลอดเวลา

เราได้ไปคุยกับโกเกียะ และนภัส ผู้ทำหน้าที่เผากระดาษเหล่านี้ ซึ่งเผยว่า หลังจากที่ไหว้ทำพิธีเสร็จ ก็จะลำเลียงของไปยังลานเผาในบริเวณศาลาที่มีสระน้ำของศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย โดยเชื่อว่า สระน้ำเป็นเหมือนหนองบึงที่จะเป็นช่องทางการเดินทางสู่อีกภพได้ตรงที่สุด

อีกพิธีกรรมสำคัญที่เราได้ร่วมขณะอยู่ที่โรงพระคือพิธี “ส่งพระ” หรือการส่งเทพองค์ต่างๆ ที่อัญเขิญลงมาในช่วงกินเจกลับสู่สวรรค์ โดยเฉพาะเง็กเซียนฮ่องเต้ที่ศาลเจ้าอัญเชิญลงมาสถิตย์ที่โรงพระในช่วงเทศกาลกินเจ โดยระหว่างที่เทพอยู่ในศาลเจ้า จะทำให้ศาลเจ้าเป็นเหมือนเขตพระราชฐาน เป็นพระราชวังที่เต็มไปด้วยกษัตริย์ ซึ่งก็คือเหล่าเทพ นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีทหารม้า นายพลทั้งหลายที่ถูกอัญเชิญมาพร้อมกัน และเลี้ยงอาหารในพิธีโข้กุ้นนั่นเอง

ในคืนสุดท้ายของการกินเจ พิธีส่งพระเริ่มต้นด้วยการรื้อบานเฟี้ยมที่เป็นเหมือนประตูกั้นพระราชวังส่วนหน้า ก่อนจะก็จะจัดพิธีในตอนค่ำท่ามกลางความมืดมิดของโรงพระที่เทียนทุกดวงดับหมดเพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณองค์เทพเข้าไปยังกระถางดินที่มีไฟเผาไหม้อยู่ด้านใน ซึ่งถือเป็นดวงวิญญาณของเทพ ก่อนนำใส่เกี้ยวที่จะถูกหามไปยังแม่น้ำตรัง ซึ่งการนำเจ้าลอยออกไปในทะเลเพื่อส่งกลับสวรรค์นี้มีข้อห้ามว่า คนนำกระถางไปลอยทะเลท่ามกลางความมืดมิดต้องไม่หันกลับไปมองกระถางอีกเป็นอันขาด

ออกเจ อาหารชอ และหมูย่างตรัง

หลังจากที่ออกเจแล้ว คนครัวบางส่วนก็ลากลับบ้าน แต่ก็ต้องมีบางส่วนเหลือเพื่อทำอาหารมื้อส่งท้ายเทศกาลเจ นั่นคืออาหารเนื้อสัตว์มื้อแรก

สำรับอาหารออกเจถือว่าเป็นการรวมอาหารเด็ดเมืองตรังเลยก็ว่าได้ เพราะสำรับมีตั้งแต่หมูฮ้อง เคาหยุก หมี่หนำหล่อ เครื่องแกง และหมูย่างทั้งตัว

เช้าวันที่ 10 ของเทศกาลกินเจ บรรดาคนครัวที่กิวอ๋องจะมารวมตัวกันตั้งแต่เช้ามืด เพื่อมาเตรียมตัวทำอาหารชอมื้อแรกหลังออกเจ เราได้เห็นภาพหมูทั้งซี่โครง หมูสามชั้น ไก่ทั้งตัว ที่ดูเหมือนจะใช้ทักษะคนละแบบกับการทำอาหารเจลิบลับ แต่ดูเหมือนว่า พ่อครัวแม่ครัวทุกคนจะได้โชว์ฝีมือการทำอาหารกันเต็มที่ก็มื้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสับซี่โครงหมูอันเชี่ยวชาญ​ การหั่นหมูสามชั้นเป็นแผงสี่เหลี่ยม ก่อนนำไปต้ม และนำมาทาซีอิ้วดำเพิ่มความเข้ม ก่อนนำไปทอดเพิ่มเทกซ์เจอร์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเมนูเคาหยุก

หนึ่งในเมนูดั้งเดิมและต้องทำไว้เข้าสำรับออกเจของตรังคือคือ เคาหยุก ส่วนตัวที่เราเคยกินเคาหยุกมาคือจะเป็นการนึ่งหมูที่ปรุงคล้ายหมูพะโล้และผักดองจนแห้ง แต่เคาหยุกสูตรตรังจะเป็นต้มแบบมีน้ำคล้ายพะโล้และใส่เผือกด้วย โดยวิธีการทำเริ่มต้นด้วยการผัดเครื่องแกงเคาหยุก ซึ่งจะเริ่มด้วยการเจียวกระเทียม ก่อนจะใส่ผงพะโล้ โป๊ยกั๊ก เต้าหู้ยี้ ขิง ลงไปผัดด้วยกันจนได้ที่จึงค่อยเติมน้ำและใส่เครื่องปรุงต่างๆ ที่เตรียมเอาไว้ลงไปก็คือเผือกทอด และหมูสามชั้นทอด ส่วนสูตรเจเองถือเป็นเมนูยากเพราะมีหลายขั้นตอน ทำให้พ่อครัวจะต้องเริ่มทำก่อนเมนูอื่น เริ่มด้วยการทอดเผือก ต้มฟองเต้าหู้ และหน่อไม้ก่อนจะนำมาต้มรวมกันอีกที ทำให้ใช้เวลานาน

แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสำรับออกเจก็คือเมนูหมูย่างเมืองตรัง ที่แม่สุนีย์ไม่ได้ทำเอง แต่จะสั่งจากคนทำหมูย่างเจ้าอร่อยในเมืองสำหรับเข้าร่วมพิธีโข้กุ้น และพิธีปิดเตาโรงทาน

เรามองของไหว้ต่าง ๆ แล้วสังเกตว่าได้รับการจัดเรียงเอาไว้เหมือนสำรับพิธีโข้กุ้น หากแต่ทุกจานมีเนื้อสัตว์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโอต้าว หมี่หนำหล่อ โดยมีแกงใต้แบบไม่ใช้กะทิมาเสริมในมื้อนี้

ช่วงปิดครัว จะมีพระเดินมาทำพิธีที่หน้าเสื่อวางของบูชาในโรงครัว พร้อมให้พรแก่คนครัวทั้งหลาย โดยก่อนจะออกไป พระได้หักขาหน้าของหมูย่างมามอบให้กับแม่สุนีย์ ซึ่งแม่บอกว่า เหมือนของขวัญจากเทพที่มอบให้เป็นกำลังใจหลังจากเสร็จงาน ถือเป็นความโชคดีที่พระมอบให้กับมือ

 

——-

ช่วงเวลา 6 วันที่เราได้ไปสัมผัสเทศกาลเจที่ตรัง เราบอกตรง ๆ ว่างานทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเทศกาลกินเจไปเลย ทำให้รู้ว่าการกินเจนั้นมีหลายมิติมาก ไม่ใช่แค่การกินเจเพื่อไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่เป็นการสืบสานประเพณี การเคารพเทพเจ้า บรรพบุรุษ และความเชื่อของผู้คนที่อยู่ร่วมกันด้วยประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันอยู่ในเทศกาลกินเจ จริงๆ แล้วยังมีเรื่องราวในเทศกาลนี้อีกเยอะมาก ทั้งเรื่องราชวงศ์จีน เครื่อข่ายอั้งยี่ และเรื่องราวของอาหารการกินที่ไหลวนอยู่ในหมู่ชุมชนชาวจีนในแถบคาบสมุทรมะละกา และภาคใต้ของไทย เราแค่นำส่วนที่เราไปสัมผัสมาเล่าให้ฟัง หากมีความเชื่อที่แตกต่างใดๆ ไปจากนี้ ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ เราเชื่อว่ายังมีอะไรให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเยอะเลย

ถ้าใครเคยกินเจแล้วอยากจะไปเพิ่มประสบการณ์กินเจในแบบที่แตกต่าง ลองวางแผนดีๆ ในปีหน้าแล้วไปสัมผัสเทศกาลกินเจที่ตรังแบบเต็ม ๆ กันดู

 

Special Thanks to

ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย อ. จุฑามาศ เชาว์พิพัฒนะ อาจารย์ประจำสาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง และเชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ ร้าน ตรังโคอิ

 

Story and photos by Monruedee Jansuttipan

 

 

 

 

Written by
No comments

LEAVE A COMMENT