ชวนทำความรู้จักกับ Dieter Rams ดีไซเนอร์สินค้าคอนซูเมอร์สายมินิมัลชาวเยอรมันที่พูดน้อยต่อยหนัก สร้างสินค้าที่ฉีกกฎความหรูเวิ่นเว้อด้วยดีไซน์เรียบง่ายจนประธานฝ่ายออกแบบของ Apple ยังยกให้เป็นไอดอล
ใครที่ชอบงานออกแบบสไตล์มินิมัล ช่วงนี้เราอยากแนะนำโปรแกรมหนังดีๆ ว่าด้วยเรื่องดีไซน์อย่าง Rams สารคดีเรื่องราวชีวิต แนวคิด และการออกแบบของ Dieter Rams นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวเยอรมันที่ฉีกกฎการดีไซน์ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเครื่องแสดงความหรูหราให้ตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานพร้อมรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย พร้อมสโลแกน “Less but Better”
หนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ Gary Hustwit ผู้กำกับที่ตัดสินใจขอระดมทุนในเว็บ Kickstarter เพื่อสร้างหนังสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งเราก็ขอสารภาพว่าก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้รู้จักรามส์มากนัก แต่การได้ดูหนังทำให้เราค่อยๆ ทึ่งกับความเป็นตัวตนของดีไซเนอร์วัย 86 ปีรายนี้ที่ออกแบบรูปลักษณ์สินค้าดีไซน์ล้ำจากยุคที่เขาเริ่มต้นการทำงานเหลือเกิน
หลังรอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รามส์ก็เติบโตมาด้วยความฝันอยากเป็นสถาปนิกแต่มีโอกาสได้รับการทาบทามให้ลองมาเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของ Bruan บริษัทผลิตเครื่องใช้ภายในบ้านที่ต่อมาสร้างชื่อเสียงในเรื่องการออกแบบ เพราะสองพี่น้องเจ้าของบริษัทจริงจังกับการออกแบบผลิตภัณฑ์จนถึงกับตั้งแผนกดีไซน์ และทำงานร่วมกับ Ulm School of Design ในเยอรมันเพื่อออกแบบสินค้าสไตล์โมเดิร์น เน้นการใช้งานและผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกัน พร้อมแต่งตั้งให้รามส์เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Bruan
เราทึ่งกับวิสัยทัศน์ของรามส์ที่เลือกขบถกับแนวคิดเดิมๆ ของรูปลักษณ์สินค้าภายในบ้าน และหันมาออกแบบสินค้าด้วยสไตล์ที่เรียกได้ว่าปฏิวัติวงการ เพราะตัดทอนความเยอะของลวดลายและเส้นสายทุกอย่างลงเหลือแต่พื้นผิวเรียบๆ เน้นการใช้งานแบบที่เรียกว่าไม่ต้องอ่านคู่มือก็ใช้เป็น อย่างเช่นเครื่องอ่านแผ่นเสียง SK-4 ที่รวมวิทยุเข้าไว้ในเครื่องเดียวกัน หรือจะเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์เคลื่อนที่ซึ่งเจ้าตัวขอเรียกว่า walkman เครื่องแรกของโลก เครื่องคิดเลขที่จัดวางแนวเลขพร้อมเครื่องมือบวกลบคูณหารเป็นเลย์เอาท์ใหม่จนกลายเป็นบรรทัดฐานที่ทั่วโลกใช้ในวันนี้

Photo: MoMA
แน่นอนว่านอกจากตัวหนังจะได้พูดคุยสัมภาษณ์กับรามส์ และเห็นงานออกแบบสิ่งของต่างๆ แล้วหนังยังทำให้เราได้เห็นถึงแก่นความคิดเบื้องหลังการออกแบบผลิตภัณฑ์ และหลักการดีไซน์ที่ดี 10 ข้อของรามส์ที่อิงกับหลัก “Less but better” ของเขา ซึ่งใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านที่ลิงก์นี้ ซึ่งเป็นเว็บของ Vitsœ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่รามส์ร่วมออกแบบมาตั้งแต่ปี 1959 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายออกแบบของแบรนด์เช่นกัน
งานออกแบบของ Rams ยังส่งผลต่อแนวคิดของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คนรู้จักกันทั่วโลกอย่าง Jonathan Ive อดีตประธานฝ่ายออกแบบของ Apple ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบเปลี่ยนโลกอย่าง iMac, iPod, iPhone, iPad, MacBook ซึ่งก็ออกตัวเลยว่าปู่ Rams เป็นสุดยอดแรงบันดาลใจในการออกแบบของเขา ซึ่งหลายคนมักจะนำ iPod ไปเปรียบเทียบกับวิทยุเคลื่อนที่รุ่น T3 ของรามส์ (ลองเข้าไปดู Link นี้) ขณะที่ความคลาสสิกของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของดีไซเนอร์รุ่นเก๋า ก็ทำให้แบรนด์ Vitsœ ถึงกับต้องนำเก้าอี้รุ่นวินเทจที่รามส์เคยออกแบบกลับมาผลิตเพื่อจำหน่ายอีกรอบ

แต่เราเชื่อว่าแก่นงานดีไซน์ของรามส์ต่างหากที่ทำให้งานดีไซน์ของเขาได้รับการยกย่องจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และคนที่ชื่นชอบงานออกแบบ เพราะเขายึดหลักการ Less but Better ยกสิ่งไม่จำเป็นออกจากดีไซน์ และนำสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเข้ามาใช้เพื่อให้เหลือไว้แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานที่จำเป็นเท่านั้น ขณะที่เจ้าตัวมักจะให้เครดิตกับทีมเสมอ โดยบอกว่างานดีไซน์ทุกชิ้น เขาร่วมออกแบบกันเป็นทีม ไม่ใช่เขาแค่คนเดียว
ปัจจุบันงานออกแบบของรามส์ได้รับการนำไปตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและดีไซน์สำคัญๆ หลายแห่ง ได้แก่ Design Museum ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ Museum of Modern Art หรือ MoMA ในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และ Museum Angewandte Kunst หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะประยุกต์ในนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมันที่เก็บรวบรวมงานศิลปะ กราฟฟิก และงานออกแบบจากทั่วโลก

เรายังชอบการตั้งข้อสังเกตของรามส์ด้วยว่า ท้ายที่สุดแล้ว Design is Attitude หรือการออกแบบก็คือทัศนคติที่เรามีต่อตัวเองและโลกว่าเราจะออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยทัศนคติที่เราทำความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ และมองโลกในแบบที่เราเห็น เพราะการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้น สามารถสะท้อนการใช้ชีวิตของเราที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมซึ่งจะส่งผลต่อโลกและความยั่งยืนในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
เพราะอนาคตล้วนขึ้นอยู่กับเส้นทางที่เราเลือกในตอนนี้ว่าจะให้โลกเราเป็นแบบไหน
ใครสนใจแวะไปดูที่ Bangkok Screening Room ฉายถึงวันที่ 4 ส.ค.นี้ สามารถเช็ครอบที่ลิงก์นี้ได้เลย
Bangkok Screening Room
ที่อยู่: Woof Pack Building 1/3-7 ซ.ศาลาแดง 1 สีลม
โทร. 090-906-3888