Guss Records ส่งต่อความประทับใจจากเมนูในความทรงจำของทีม Guss Damn Good

โมเมนต์เปิดถุงขนมจาก Guss Records ของเรา: ขนม 3 อย่าง ที่เปิดออกมามี 5 ชิ้น — มีถุงที่รู้สึกเย็น ๆ ชื้น ๆ มีถุงที่ทำให้ไอน้ำบนผิวจับตัวเป็นน้ำแข็ง แล้วก็มีการ์ดบอก instruction แนบมา 3 แผ่น

/เราหยิบอ่านแล้วก็ถกแขนเสื้อ เริ่มสนุกตั้งแต่ตอนจินตนาการว่าเราจะได้กินอะไรจากสิ่งที่การ์ดบอกแล้ว!

go-to cookie ของ guss records

 

Guss Records เป็นแบรนด์ใหม่จากทีม Guss Damn Good ผู้ที่เรายอมรับในฝีมือการทำไอศกรีมอันน่าประทับใจ ตั้งแต่การหยิบจับรสชาติที่เล่าเรื่องราว ไปจนถึงการเอามารวมร้อยกันกับสัมผัสจนกลายเป็นรสไอศกรีมแบบเฉพาะตัว ถ้าสังเกตดี ๆ ไอศกรีมของกัสส่วนใหญ่จะไม่ได้มาแค่ครีมรสชาติต่าง ๆ แต่มี ‘ขนม’ หรือองค์ประกอบเชิงรสสัมผัส (texture) บางอย่างแทรกไปในเนื้อด้วย ไม่ว่าจะเป็นครัมเบิลกรุบ ๆ บราวนี่เป็นชิ้น แยม ผลไม้ ไปจนถึงน้ำผึ้งเย็น ๆ ที่อาจเหนียวติดฟันหน่อย ๆ

แล้วเราก็ได้เห็นรายละเอียดคล้าย ๆ กันในแบรนด์ Guss Records ที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่างระริน ธรรมวัฒนะ กับนที จรัสสุริยงค์ เริ่มต้นด้วยการไขข้อสงสัยว่า ชื่อแบรนด์ไม่ได้มาจากแผ่นเสียงอย่างที่เราคิด

 

 

เปิดสมุดโน้ตแชร์ของอร่อย

“มันคือ record แบบการบันทึก เหมือนเราเอาสมุดโน้ตมาแชร์”

ระรินเริ่มต้นด้วยการเล่าว่าไอเดียของ Guss Records มาจากของอร่อยในความทรงจำ ที่เธอและทีมถึงขั้นเขียนเก็บไว้ เพื่อเอามาคุยกัน แชร์ไอเดีย ไปจนถึงเป็นแรงบันดาลใจในการคิดรสชาติใหม่ ๆ กระทั่งนที ที่ไม่ใช่แฟนของหวานตั้งแต่แรก ก็ยังได้ชิมขนมมากขึ้นจากการทดลองทำขนมที่จะใส่ในไอศกรีม เลเวลอัปจนมีโน้ตขนมของตัวเองแล้วเหมือนกัน

“อย่าง bread pudding เป็นขนมที่เวลาเราลงเครื่องที่บอสตัน เช็กอินโรงแรมเดิม แล้วต้องลงมาที่ร้านอาหารของโรงแรม สั่งสิ่งนี้ ของที่นี่ มันมีส่วนประกอบของความชอบ ความอร่อย รวมกับความรู้สึกของเราในห้วงเวลานั้น เราเรียกมันว่าเป็น ‘โมเมนต์’ เป็นช่วงเวลาพิเศษ” ระรินเล่า

พวกเขาเล่าว่าโมเมนต์เหล่านี้ มันมีพลังมากพอที่จะเรียกพวกเขาไปที่เก่า แม้อาจไม่ใช่เวลาเดิม เพื่อจะเล่นเทปความทรงจำนั้นซ้ำ ๆ และบันทึกความรู้สึกนั้นแบบย้ำ ๆ

 

Burnt Caramel Bread Pudding ของ Guss Records มาพร้อมกับ caramel mascarpone

Burnt Caramel Bread Pudding ในอุณหภูมิห้อง ปีกข้าง ๆ เป็น burnt caramel แบบหนึบหนับ

 

Burnt Caramel Bread Pudding (145 บาท) เกิดจากโมเมนต์อันนี้ของระริน ที่เอามาเติมความเป็นตัวเองลงไปชัด ๆ ผ่าน butterscotch และการอบใหม่กับคาราเมลไหม้เน้น ๆ ให้สมกับที่เธอมักพูดติดปาก อย่างคนที่รู้จักรสชาติของตัวเองชัดเจนว่า “เราชอบขนมที่มัน golden brown” พร้อมตาเป็นประกายบนหน้ายิ้มมีความสุข โดยงานนี้ ทีม Guss Records ได้เชฟมืออาชีพอย่าง แววระวี พันธุมจินดา มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ควบตำแหน่งแม่ทัพฝั่งครัว

 

 

หยิบ ‘โมเมนต์’ มาเล่าใหม่ในแบบของตัวเอง

แต่ถึงคอนเซปต์จะมาจากการหยิบเมนูในความทรงจำออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นขนมแบบเดียวกัน

“เพราะเวลาเกิดโมเมนต์อะไรสักอย่าง มันมักมีหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งเวลา สถานที่ ความพิเศษเฉพาะของสถานการณ์ บางทีขนมบางอย่าง ถ้ากินปกติมันอาจไม่ได้อร่อยขนาดนั้น แต่พอมันรวมกับสิ่งอื่น ๆ ในจังหวะนั้น มันก็พิเศษขึ้นมา” นทีอธิบาย

“ถึงจะเป็นของที่ชอบมาก อร่อยมาก แต่บางครั้งก็ไม่ได้ถูกใจไปเสียทั้งหมด บางอย่างเราอาจอยากให้หวานน้อยกว่านี้อีกหน่อย หรือมีเท็กซ์เจอร์ต่างออกไปอีกนิด” ระรินเสริม

“เพราะฉะนั้น Guss Records ก็เลยเอาเมนูโปรดพวกนั้น มาทำใหม่ในแบบของเรา ให้เป็นเวอร์ชันที่เราชอบที่สุด”

และด้วยความเป็นเวอร์ชันที่ตั้งใจให้กินอร่อย ก็เลยอดไม่ได้ที่จะบอกออกมาด้วยว่า “กินแบบไหนให้อร่อย” ในกระดาษโน้ต ที่ทั้งเล่าเรื่องราวโมเมนต์ความอร่อยแบบออริจินอล และวิธีการกินฉบับ Guss Records ให้อร่อยสุด ๆ ข้อนี้เรายกให้ Blueberry Upside Down (195 บาท) ที่มาพร้อมไอศกรีมเครมเฟรช (creme fraiche) เต็มถ้วย และคำแนะนำตั้งแต่การคว่ำไม่ให้พลาด ไปจนถึงการอุ่นเพื่อให้อร่อยสุด ๆ

 

ขนม Blueberry Upside Down ของ Guss Record วางอยู่ข้าง ๆ ไอศกรีม Creme Fraiche

Blueberry Upside Down ขอบล่างสีแบบนี้คือสุดยอด!

 

ขนมอร่อยเข้าใจง่าย แต่แน่นไปด้วยรายละเอียด

สิ่งที่ Guss Records หยิบมานำเสนอไม่ใช่ขนมที่แฟนซีหรือซับซ้อน แต่เป็นรสชาติที่คุ้นเคย อ่านชื่อแล้วเข้าใจ เห็นภาพแล้วพอนึกได้ว่าจะรสชาติประมาณไหน ถึงจะแอบซ่อนเซอร์ไพรส์เอาไว้อีกชั้น แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่เลยความคาดหมายไปไกล หรือทำให้ตกใจไปเลย

แต่สิ่งที่ทำให้เราตกใจจริง ๆ คือ ภายใต้คำคุ้นเคยอย่าง คุกกี้ เค้กเนย หรือว่าเบรดพุดดิ้ง มีรายละเอียดมากมายที่ทั้งรู้สึกได้ตอนกิน และสัมผัสได้จากการคุยกับคนทำ

 

 

อย่างตอนฟังระรินเล่าเรื่อง Go-to Cookie (ชิ้นละ 75 บาท) ที่แม้เจ้าตัวจะเน้นว่าไม่หวือหวา ธรรมดา กินได้บ่อย และรสชาติคอมฟอร์ตมาก ๆ แต่ก็อธิบายถึงตัวคุกกี้ได้เป็นฉาก ๆ “เท็กซ์เจอร์มันจะหนึบ ๆ chewy เนื้อคุกกี้สุกทั่วไปถึงตรงกลาง เป็นคุกกี้นิ่มแต่เนื้อมีความอยู่ตัว กรอบนอกหนึบใน พอวันที่สองจะกลายเป็นซอฟต์คุกกี้เต็มตัว แล้วถ้าใส่ตู้เย็นไปถึงวันที่สาม ก็แนะนำว่าให้เอาไปอุ่นก่อนกินนุ่ม ๆ” นี่ยังไม่รวมการใส่ช็อกโกแลตชิปทั้งแบบดาร์กและมิลค์ ไล่ไปจนถึงขั้นรู้ว่าชั้นไหนในเตาอบที่คุกกี้ออกมาอร่อยสุด

สำหรับคนกินอย่างเรา พอได้ชิมรสชาติที่คุ้นเคย แต่มีรายละเอียดบางอย่างเซอร์ไพรส์ขึ้นมา เรารู้สึกว่ามันได้วนกลับมาสร้าง “โมเมนต์” ให้เราอีกที ความตื่นเต้นที่ไม่ใช่แค่เพราะขนมอร่อย แต่รวมไปถึงการลงมือเตรียมให้ขนมอร่อยขึ้นไปอีก และความแปลกใหม่ที่ดี ที่จะบันทึกลงในความทรงจำของเรา

และด้านล่างนี้คือบันทึกของเรา เกี่ยวกับขนมแต่ละชิ้นในเมนูเปิดตัวของ Guss Records

 

 

Burnt Caramel Bread Pudding

เจ้านี่เป็นเบรดพุดดิ้งที่เราว่า “ไปสุด” มาก! ชิ้นไม่ใหญ่ แต่ attitude มาเต็ม (ถ้าใครเคยชิมไอศกรีมรส bonfire ของกัสแล้ว จะรู้ว่าเขาไม่อ่อนข้อให้กับคาราเมลไหม้ จะไหม้ทั้งทีต้องมีความขมที่รับรู้ได้ ซึ่งเป็นขมที่ดี เป็นขมที่มีเสน่ห์มากสำหรับเรา)

ความไปสุดแรกของขนมชิ้นนี้คือ เป็นขนมปังบริยอช ที่นอกจากจะอบใหม่ในครัวของร้านเอง ก็ยังต้องทิ้งไว้ให้เก่า (อารมณ์เดียวกับเฟรนช์โทสต์ คือขนมปังหลายวันแล้ว เนื้อแห้งไปหมด ต้องเอามาชุบคัสตาร์ด เติมของเหลวให้กลับมากินได้) เพราะว่าถ้าไม่แห้ง ก็จะซึมซับคัสตาร์ดได้ไม่เต็มที่ นี่เลยกลายเป็นเจ้าขนมปังสี่เหลี่ยมที่ซึมซีบคัสตาร์ดไปเต็มที่ แน่นมากจนมองไม่ออกว่าเคยเป็นขนมปังมีโพรงมาก่อน

ไปสุดที่สองคือในเนื้อเบรดพุดดิ้งมี butterscotch แทรกอยู่ในเนื้อที่ทั้งเพิ่มความกลมกล่อม แล้วก็เติมลูกเล่นให้แต่ละคำไม่เหมือนกันไปซะหมด ซึ่งนี่ยังไม่นับคาราเมลไหม้ ที่กระจายตัวเคลือบผิวและแผ่เป็นปีกอยู่รอบ ๆ ตัวขนม ซึ่งในการ์ดบอกว่าให้กินในอุณหภูมิห้อง เพราะคาราเมลจะหนึบ ๆ เหนียว ๆ ให้เคี้ยวแล้วติดฟันนิด ๆ กับคาราเมลมาสคาร์โปเน่ ที่ใส่ในกระปุกเล็กแยกมาพร้อมน้ำแข็ง เพราะว่าตั้งใจให้กินเย็น ๆ ซึ่งพอมันมาเนียน ๆ แล้วรู้สึกเต็มปากขึ้นจริง ๆ

แต่ด้วยความไม่ค่อยชอบเคี้ยวอะไรติดฟัน เราเลยเก็บไปอุ่นกินอีกครึ่งนึง (ภาพขวาสุด) คาราเมลละลายเหลว พอโปะมาสคาร์โปเนเข้าไปก็ละลายตาม แล้วความเป็นคนชอบของไหล ๆ ฉ่ำ ๆ ก็บอกฉันว่ามันใช่! สรุปก็คือกินได้ทั้งสองแบบ สะดวกแบบไหนจัดไปตามการ์ดคำแนะนำได้เลยไม่ผิดหวัง

 

 

Blueberry Upside Down

เป็นตัวไฮไลต์ของเรา ที่จะขอเริ่มด้วยการย้ำกับทุกคนว่า ต้องเอาไปอุ่นนะ! เพราะความดีงามจะพุ่งแบบเอ็กซ์โปเนนเชียลลล (พูดเวอร์ยังไงก็ไม่เวอร์ เอาจริง) อะ จินตนาการตาม เค้ก upside down ที่มาในพิมพ์อะลูมิเนียมแบบไม่เห็นหน้าตามชื่อ เปลี่ยนจากสับปะรดที่คุ้นเคยเป็นบลูเบอร์รีสุก หวานอมเปรี้ยว แต่เบา ๆ ไม่ได้มีแป้งข้น ๆ แบบไส้พาย เนื้อเค้กเป็นเค้กเนยนุ่มฉ่ำหอม และวิธีการกินคือเอาเข้าอบในเตา แล้วกินตอนอุ่น ๆ กับไอศกรีมรส Creme Fraiche ที่เป็นส่วนผสมของเครมเฟรช วานิลลา และเลมอน หวานหอมซ่อนเปรี้ยวสดชื่น

ความพีคคือตอนเอาเค้กออกมาจากเตา โปะไอติม ยังไม่ทันสังเกตอะไร แต่พอเอาช้อนตักเข้าปากแล้วได้กลิ่นหอมกับสัมผัสความกรุบจากฐานเค้ก ที่เข้มขึ้นมาเป็นสีน้ำตาล แล้วมันใช่!

ทั้งเท็กซ์เจอร์ที่ตัดความฉ่ำของเค้กกับความนุ่มของไอติม และอุณหภูมิของอุ่นกับเย็นที่กินรวมกัน กลายเป็น magical moment ขึ้นมา ด้วยความไม่ได้คาดหวังว่ามีมิตินี้ซ่อนอยู่ในขนมชิ้นนี้ด้วย เลยเซอร์ไพรส์ใหญ่มาก เพราะงั้น ถึงใครไม่มีเตาอบที่บ้าน ก็จะแนะนำให้ลองเอาไปนาบบนกระทะดูสักหลายนาที (แต่ต้องเช็คก่อนนะว่ากระทะไม่มีกลิ่นอาหาร)

 

 

สำหรับเจ้า Go-to Cookie นี่เราให้คะแนนแพ็คเกจอันดับหนึ่ง คือน่ารักกกก สั่งแบบ gift box 4 ชิ้นจะมาในกล่องลังขนาดพอดีตัว แปะสติกเกอร์น่ารักเท่ ๆ มีสไตล์ แล้วข้างในเป็นคุกกี้แยกชิ้นใส่ซองกระดาษขาวพิมพ์ดำ เอาไปเลยคะแนนความเท่ของทั้งหมดทุกอย่าง ทั้งแบบรวมและแบบแยก

กระดาษโน้ตแนะนำคุกกี้ช็อกโกแลตชิปอันนี้ว่าเป็นตัวคลาสสิก ตัวเก่งที่นึกถึง และอยากให้คนอื่นกิน คือถ้านึกถึงคุกกี้ ด้วยความ American-influenced เราก็จะนึกถึงคุกกี้ช็อกโกแลตชิปเหมือนกัน (ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนจะนึกถึงคุกกี้เนยกรอบ ๆ ออกก่อน)

คุกกี้เป็นขนมที่ฟังดูเบสิก แถมเป็นช็อกโกแลตชิปที่สุดแสนจะคลาสสิก เป็นขนมที่คนอบขนมต้องเคยทำกันในบรรดาสิ่งแรก ๆ ที่อบ อะไรแบบนั้น คือมันมีภาพความว่าง่าย สบาย ๆ อยู่ แต่ใครจะไปรู้ว่าตัวนี้ก็รายละเอียดแน่น ตั้งแต่ความชอบของเจ้าของโมเมนต์อย่างระริน ที่เน้นว่าต้องเป็นแบบเนื้อข้างในสุก แต่นุ่มหนึบ มีขอบกรอบบาง ๆ ที่จะนิ่มลงในวันต่อมาก็ไม่เป็นไร

และไม่ใช่แค่นั้น ถ้าใครดูสีจะเห็นว่าเป็นสีน้ำตาลที่ลึกกว่าคุกกี้ช็อกชิปที่เห็นบ่อย ๆ เพราะว่านอกจากน้ำตาลทรายแดงคู่ชีพคุกกี้นิ่มแล้ว เจ้านี่ยังใส่โมลาสลงไปเพิ่มความดีปของรสชาติกับสี และช่วยให้เนื้อหนึบขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ ช็อกโกแลตชิปในคุกกี้ก็มีทั้งดาร์กและมิลค์ผสมกัน ก็คือรายละเอียดยิบ

กัดเข้าไปเป็นรสชาติที่กลมกล่อม คอมฟอร์ตแบบเข้าใจง่าย ไว้ใจได้ว่าจะดี สามารถหยิบขึ้นมาในวันที่ใจต้องการการพักผ่อน อะไรแบบนั้นเลย

 

Guss Records

ยังไม่มีหน้าร้าน จัดส่งจากย่านเกษตรนวมินทร์
สั่งได้ที่ Line @gussrecords
ส่งวันพฤหัส-เสาร์ 10:45-16:30 น.
www.facebook.com/gussrecords

อ่านเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับ Guss Damn Good

 

View this post on Instagram

 

A post shared by spreads (@spreadsbkk)

Written by

Yong is a co-founder/editor at Spreads and a craft chocolate enthusiast. She firmly believes in making informed decisions about what we eat, with knowledge and awareness at the core. She also loves taking photos of her food. Some of them can be found on her IG: @yongsans

No comments

LEAVE A COMMENT