Graph Can กาแฟไนโตรและคราฟต์โคล่าจากแบรนด์กาแฟสุดเก๋าในเชียงใหม่

ช่วงวิกฤติทำให้เราได้เห็นการพัฒนาตัวเองของเหล่าคนทำเครื่องดื่มบ้านเราไปไวมาก​ ทั้งบาร์ และกาแฟ ล่าสุดร้านกาแฟโปรดของเราในเชียงใหม่อย่าง Graph Coffee co ก็ออกเครื่องดื่มกระป๋องอัดไนโตรเจนมาให้สายกาแฟและคนชอบเครื่องดื่มคราฟต์โซดาได้สนุกกับรสชาติใหม่ ๆ กันทีเดียว 6 รสไปเลย

 

โดยเฉพาะรสโคลาที่ทางร้านหาวัตถุดิบท้องถิ่นมาผสมจนออกมาเป็นโคลากลิ่นเฉพาะตัวที่เรากินแล้วชอบอย่างบอกไม่ถูก 

 

คุณตี่ – ฆฤพร สาตราภัย ผู้ก่อตั้ง Graph Coffee Co บอกกับเราว่า การทำเครื่องดื่มกระป๋องเป็นแรงบันดาลใจของแบรนด์เองที่ตั้งใจจะผลิตเครื่องดื่มกาแฟโคลด์บริวกระป๋องอัดไนโตรเจนให้ได้เป็นเจ้าแรกในไทย บวกกับความที่แบรนด์ผลิตโซดาเองสำหรับใช้ทำเครื่องดื่มคราฟต์โซดาเสิร์ฟในร้านมาสักระยะแล้วจึงนำ know how มาผลิตเครื่องดื่มกระป๋องออกขายพร้อมกันเลย

 

“เรามองเป็นความท้าทายของเราเองที่จะทำได้ไหม โดยเฉพาะการเสิร์ฟไนโตรโคลด์บริวในที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้แท็ปกดก่อนเสิร์ฟ เรามองว่าแม้กระทั่งการกดจากแท็ปโดยตรงก็ไม่สามารถรักษาฟองไมโครโฟมเล็กๆ ได้ เพราะแค่ 2 นาทีฟองก็หมดแล้ว แต่เราสามารถพัฒนาอัดลงกระป๋องส่งไปที่ไหนก็ได้ และเปิดดื่มได้ทันที มันน่าสนใจมาก” 

 

คุณตี่บอกว่า จริง ๆ แล้วกาแฟสกัดเย็นอัดไนโตรเจนลงกระป๋องไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะต่างประเทศสามารถทำได้เป็นปีแล้วเพราะมีเทคโนโลยีดีกว่า แต่ด้วยความท้าทายคือเขาเองก็ไม่สามารถลงทุนได้เหมือนต่างประเทศที่ต้องมีเงินลงทุนอย่างน้อย 5 ล้านบาท จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับแบรนด์กาแฟเล็ก ๆ ของเขาที่จะทำออกมาด้วยความรู้ที่มีจนออกมาเป็นกาแฟกระป๋องอัดไนโตรเจนสำเร็จ

“เราเริ่มคิดเมื่อ 2 ปีที่แล้วจนโควิดมาจึงลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะเรารู้แล้วว่า แนวโน้มการบริโภคจะเปลี่ยนไป การจัดส่งโลจิสติกจะเข้ามาทำหน้าที่แบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งก็เป็นจริงและชัดเจนมาก เราเริ่มผลิตแบบขวดแก้วมานานหลายปี จึงถึงเวลาที่ต้องพัฒนาการผลิตเพื่อยืดอายุของผลิตภัณฑ์ จัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

เราจึงใช้วิธีอัดก๊าซและไล่ออกซิเจนรวมถึงหยดลิควิดไนโตรเจนเพื่อรักษาคุณภาพของเครื่องดื่มไว้ เราใช้เวลา 10 เดือนสร้างไลน์การผลิตสำเร็จในช่วงโควิดรอบ 2 มา​ เลยเริ่มปล่อยวันแรก 14 กุมภาพันธ์ 2021 และปัจจุบันไลน์การผลิตก็อยู่ที่สาขาหลักคือ GRAPH QUARTER ซอยศิริมังคลาจารย์ 13 แถวย่านนิมมานเหมินทร์”

 

ส่วนเครื่องดื่มคราฟต์โซดากระป๋องที่เราชอบอย่างรสโคลาก็มาจากการที่ร้านผลิตน้ำโซดาใช้เองสำหรับทำคราฟต์โซดาเสิร์ฟอยู่แล้ว โดยเป็นน้ำ sparkling water แบบไม่มีกลิ่น รส มีแต่ความซ่า เลยต่อยอดพัฒนาโคล่าแบรนด์ใหม่ขึ้นมาด้วยซะเลย

 

“คนไทยชอบดื่มน้ำอัดลม และเราก็ชอบดื่มโคลามาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความที่อายุมากขึ้นก็หยุดดื่มน้ำอัดลมมา 3 ปี แล้วก็คิดถึงตลอดเลย ก็เริ่มคิดว่าถ้าเราทำโคลาเองจะเป็นยังไง” คุณตี่เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการผลิตโคลาสูตรที่ร้าน โดยอิงจากสูตรดั้งเดิมที่มีการทำกันมานานในฝั่งตะวันตก ซึ่งล้วนดัดแปลงจากต้นแบบในประเทศแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะเปรูที่มีการนำใบโคคามาเคี้ยวหรือทำเป็นน้ำสมุนไพรดื่มช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย และเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องดื่มโคลาที่เป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบัน 

 

“โคลาเป็นเครื่องดื่มที่มีมานานแล้วโดยใช้วัตถุดิบประกอบด้วยสองตัวหลักคือ ต้นโคคา พืชพื้นเมืองทางอเมริกาใต้ที่ชาวพื้นเมืองเอาใบโคคามาเคี้ยวกินสดๆ หรือไม่ก็สกัดเป็นเครื่องดื่ม เพราะมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้น อุดมด้วยสารอาหาร และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และอีกส่วนคือเมล็ดโคล่ามีรสขมเล็กน้อย มีปริมาณคาเฟอีนอยู่พอสมควร และนิยมนำมาเคี้ยวในหลายวัฒนธรรมแถบแอฟริกาตะวันตก และมักนำไปใช้ในพิธีกรรม หรือเอาไว้รับแขก ทำนองเดียวกับหมากในวัฒนธรรมไทย” คุณตี่เล่าให้ฟัง

เพื่อให้เข้ากับเครื่องดื่มคราฟต์โซดาที่ทำอยู่ ทางทีมเลยเริ่มศึกษาจากการนำวัตถุดิบพวกสมุนไพรและเครื่องเทศมาปรุงลองผิดลองถูกจนออกมาเป็นโคลาที่ใช้เครื่องเทศกว่าสิบชนิดมาสกัดและเคี่ยวกับเลมอนจนได้รสและกลิ่นใกล้เคียงกับโคลาแล้วนำมาอัดกับคราฟต์โซดาของทางร้าน และลองชิมปรับสูตรหลายรอบ 

 

“ตอนทำออกมาให้คนอื่นลองชิมรอบแรก ๆ มันไม่ใกล้เคียงเลย เหมือนยาสมุนไพรโบราณ ดื่มยาก ก็ค่อย ๆ ปรับอะไรโดดไปก็ลด อยากให้ชัดตรงรสไหนก็ดึงขึ้นมา ก็ลองมาเรื่อยๆ จนใกล้เคียง พอให้คนนอกชิม พอเขาบอกนึกถึง “โคลา” นั่นก็สำเร็จละ” คุณตี่บอก ซึ่งเราเคยได้ชิมเมื่อครั้งทำออกมาตอนยังเรียกแบรนด์ว่า River Reverse

 

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็น “ความประทับใจแรก” หลังได้ชิมคือความรู้สึกได้ถึงรสชาติที่แตกต่างและกลิ่นที่ซับซ้อนกว่าโคลาที่เราดื่มในตลาดอยู่ทุกวันนี้ ทั้งกลิ่นอบเชยที่ออกมาผสมกับความซ่าเบา ๆ ทำให้อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปถึงรสชาติโคลาในยุคแรก ๆ ว่าจะเป็นแบบที่ถืออยู่ในมือไหม

 

“ช่วงแรกทำออกมาอัดลงขวดด้วยแบรนด์ River Reverse มาจากนิยาม​ว่า สายน้ำที่ไหลกลับ เพราะเราอยากทำเครื่องดื่มน้ำอัดลมแบบดั้งเดิมที่เมื่อก่อนผลิตด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติจริงๆ แต่ปัจจุบันบริษัทน้ำอัดลมไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว ส่วนใหญ่ใช้หัวเชื้อเติมกลิ่นและรสที่มีแต่ความซ่าและความหวาน เลยเป็นที่มาทำให้อยากกลับไปที่ต้นทางใหม่อีกครั้ง”

 

แต่แม้แบบขวดจะส่งขายได้เยอะ ทางแบรนด์ก็พบปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะขวดมีความเสี่ยงที่จะแตกและมีน้ำหนักมากทำให้ต้นทุนการส่งสูงประกอบกับการผลิตโคลด์บริวแบบกระป๋องเสร็จพอดี จึงตัดสินใจออกแบบแพคเกจใหม่เป็นกระป๋องทั้งหมด

 

สิ่งที่เราชื่นชมในแบรนด์ Graph ก็คือความพยายามของผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ในเชียงใหม่ที่เก๋าพอและคิดไกลจนพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยต่อยอดจากของเดิม และไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง และพร้อมพัฒนาปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับตัวให้เข้ากับตลาดที่เปลี่ยนเร็วไม่แพ้กัน

 

ถึงแม้จะไม่รู้ว่ารสชาติดั้งเดิมของโคลาจริง ๆ จะเป็นยังไง แต่โคลาของกราฟก็มาอยู่ในใจเราไปแล้ว ไม่นับรวมรสอื่น ๆ ที่ออกมาให้เราได้ชิมกัน

 

สนใจสั่งก็กดทักที่เพจร้านไปได้เลย 6 กระป๋อง 750 บาท หรือถ้าได้ใครไปเชียงใหม่ ปัจจุบันไลน์การผลิตก็อยู่ที่สาขาหลักคือ GRAPH QUARTER ซอยศิริมังคลาจารย์ 13 แถวย่านนิมมานเหมินทร์นั่นแหละ 

 

Graph Coffee Co.

เชียงใหม่

www.facebook.com/graphcoffee.co

 

Share Post
Written by
No comments

LEAVE A COMMENT