กินเจเมืองตรัง ถือศีลกินผักแบบเต๋า การผูกปิ่นโตกับโรงพระ และอาหารเทพเจ้า
การกินเจเมืองตรังไม่ได้เป็นแค่เทศกาลกินผักให้ครบ 9 วัน 9 คืน แต่เป็นช่วงเดียวของปีที่ชาวเมืองจะมารวมตัวกันครั้งใหญ่เพื่อรักษาวิถีดั้งเดิมตามความเชื่อแบบลัทธิเต๋า จนกลายเป็นประเพณีที่ผูกจิตใจของชาวตรังเข้าด้วยกันในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สำคัญที่สุด -------- เมื่อปี 2562 เรามีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานเทศกาลกินเจ ที่เมืองตรัง ซึ่งเราขอออกตัวก่อนเลยว่าการกินเจกับเราค่อนข้างห่างเหิน เราไม่ได้ถือสัมผัสกับการศีลกินผัก แต่เราสนุกกับอาหารการกินช่วงเจเหมือนกัน โดยเฉพาะเมนูดั้งเดิมที่ปรุงด้วยวัตถุดิบเรียบง่ายอย่างเต้าหู้ แป้ง และผักชนิดต่าง ๆ มากกว่าโปรตีนหลากชนิดที่มีให้เลือกมากมายในยุคนี้ แล้วพอเจ้าบ้านที่ตรังออกปากชวนให้ตามไปดูวัฒนธรรมการถือศีลกินผักของเมืองตรัง ซึ่งถือว่ามีความดั้งเดิมที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ ทำให้เราตกปากรับคำแทบไม่ต้องคิด วัฒนธรรมการถือศีลกินผักของตรังมากับบรรพบุรุษจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนเมื่อครั้งอพยพมาตั้งรกรากที่เมืองตรัง จนกลายเป็นประเพณีฝังรากลึกของชาวจีนในจังหวัดตรัง เป็นการรวมตัวกันเพื่อแสดงความสามัคคี แสดงความศรัทธาต่อเทพ ไม่ว่าจะเป็นชาวตรังที่อาศัยในจังหวัด และชาวตรังที่จากบ้านไปอยู่ที่อื่นก็จะกลับมาในช่วงนี้มากกว่าเทศกาลปีใหม่ หรือตรุษจีนซะอีก เรียกว่าเป็นการรวมญาติคนตรังพร้อมหน้าที่สุดในรอบปีเลยล่ะ ความตั้งใจของเราในการไปเยือนตรังครั้งนี้คือไปดูประเพณีถือศีลกินผัก และอาหารการกินในช่วงกินเจที่เราได้ไปสัมผัสมาในช่วงสั้น ๆ แค่ 6 วัน แต่ก็ทำให้เราติดใจทั้งตัวผู้คน อาหาร และบรรยากาศจนอยากกลับไปตรังอีก ใครอยากรู้ว่าเทศกาลกินเจที่ตรังเป็นยังไง ตามเรามาเปิดโลกอาหารเจที่ตรังด้วยกันเลย การผูกปิ่นโต และกองทัพโรงครัว เมื่อมีการรวมตัวของคนจำนวนมากในคราวเดียว เรื่องเตรียมอาหารการกินย่อมเป็นเรื่องใหญ่ตามไปด้วย ยิ่งเป็นช่วงพิธีกรรมเลยมีทั้งอาหารคน และอาหารเทพ ที่สำคัญที่ตรังยังมีประเพณีช่วงเทศกาลกินเจแบบที่เราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นั่นคือการ “ผูกปิ่นโตกับโรงพระ” ปกติศาลเจ้าจะมีโรงทานทำอาหารไว้ให้คนที่ทานเจได้แวะเวียนเข้ามาทานและบริจาคเงินสนับสนุนอยู่แล้ว แต่คนที่นี่เลือกบริจาคเงินให้กับโรงพระเพื่อนำปิ่นโตมารับอาหารเจที่ปรุงโดยทีมครัวของโรงพระ เพื่อนำกลับไปทานที่บ้านกับครอบครัว