เรื่อง/ภาพ: พนิตา ธีรภาพพงศ์
สำหรับคนที่โตมากับการนัดเพื่อนแถวสยาม โรงหนังคือหนึ่งในที่ที่เราไปใช้เวลามากอยู่ ไม่ว่าเมื่อไหร่เราก็จะหาเรื่องไปดูหนังสักเรื่องได้ทุกที ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังสยาม โรงหนังลิโด หรือโรงหนังสกาลา
สำหรับเรา โรงหนังเหล่านี้เป็นมากกว่าที่นัดเพื่อน เพราะความทรงจำแรกๆ ที่มีคือเป็นโรงหนังที่แม่จูงมือเราไปดูหนังผี (เราเป็นเด็กชอบดูหนังผี) และเราก็โตมากับการดูหนังในย่านนี้ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปแล้วแต่ทางเอเพ็กซ์จะจัดหนังเรื่องไหนเข้าโรงไหน
แต่ถึงจะไปดูเป็นประจำ เราในตอนเด็กก็ไม่ได้รู้สึกถึงความสวยงามของตึกหรืองานสถาปัตยกรรมเท่าไร จนกระทั่งตอนทำงานอยู่นิตยสาร เราได้ไปคุยกับช่างภาพผู้หลงใหลในสถาปัตยกรรมเก่ายุคโมเดิร์นอย่าง เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย ก่อนจะได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพโรงหนังแห่งนี้มาลงบทความ และนั่นทำให้เราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสกาลาไปเลย
เรายังคงวนเวียนไปดูหนังที่สกาลาตามแต่โอกาสจะอำนวย เพราะบางทีเรื่องที่อยากดูก็ไม่เข้าสกาลา ฉายแต่ที่ลิโด ช่วงหลังที่ลิโดปิดตัวไปก็ทำให้ได้ไปดูที่สกาลาอย่างเต็มตัว และเริ่มเก็บตั๋วหนังไว้เป็นที่ระลึก เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสกาลาจะไปได้ต่อนานแค่ไหน
งานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมของสกาลาที่ทำให้เราเห็นถึงความงามของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ขึ้นมา

ตั๋วหนังที่เราเก็บสะสม
เหตุผลหลักๆ ที่เรายังคงเลือกไปโรงหนังอย่างสกาลาแทนที่จะเป็นโรงหนังยุคใหม่ทั่วไป คือเรารู้สึกว่ามาดูหนังที่นี่เหมือนได้หนีจากโลกภายนอกไปอยู่ในอีกมิติชั่วคราว ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่มีความสะดวกสบายของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เวลาเลือกที่นั่งตอนซื้อตั๋ว ยังเลือกจากแพลนที่นั่งบนแผ่นกระดาษ A4 อยู่เลย เมื่อไรที่เราเหนื่อยๆ จากการทำงานฟรีแลนซ์หนักๆ แล้วอยากพักสมองภายในเวลา 2 ชั่วโมง ก็ได้การมาดูหนังที่นี่ล่ะ เคยมีครั้งนึงเหมือนจะเก็บกด ตีตั๋ว 2 เรื่องควบไปเลย ถือเป็นการตัดขาดโลกภายนอกไป 4 ชั่วโมงก็ว่าได้ (หลังจาก 4 ชั่วโมงนั้นก็แน่นอนว่ามีไลน์ลูกค้ารอให้อ่านเพียบ)
ความน่ารักของที่นี่คือการที่เราไม่ต้องรู้สึกเขินเวลาเดินมาตีตั๋วดูหนังคนเดียว เพราะเหมือนกับว่า คนที่มาดูหนังที่นี่คือตั้งใจมาดูหนังจริงๆ ไม่ค่อยมีคนเสียงดังที่อยากเมาท์กับเพื่อนมากกว่าดูหนังเงียบๆ บวกกับการได้เห็นบรรยากาศย้อนยุคของคุณป้าขายป็อปคอร์น คุณลุงเสื้อสูทเหลืองที่คอยฉีกตั๋วดีไซน์วินเทจ ทำให้เราได้พักจากโลกยุ่งๆ มาเจอกับอะไรที่คุ้นเคย
มันเป็นความอุ่นใจเล็กๆ ที่รู้ว่ามาเมื่อไหร่ก็จะได้เจอกับสิ่งเดิมๆ ที่ไม่ต้องเปลี่ยนไปตามโลกบ้างก็ได้
เราตัดสินใจหยิบกล้องที่ห่างมือเราไปหลายเดือน ออกเดินทางไปสกาลาเพื่อเก็บภาพ ที่นั่นเราได้เจอกับมหาชนที่มีทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า แถมอย่างหลังทำเอาเราอมยิ้มกับความน่ารักของคนรุ่นนี้ ที่ยังสู้เดินทางมารำลึกความหลัง 50 ปีด้วยกัน ทั้งยังมีตั๋วหนังแจก และเสื้อขายให้เก็บเป็นที่ระลึกด้วย แถมยังขายหมดเกลี้ยงเลย
ตอนนี้กำลังมีความเคลื่อนไหวเพื่อจับตาดูว่า สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ จะตัดสินใจทำอะไรกับพื้นที่นี้ เพราะหลายคนต่างเห็นพ้องกันว่า สถาปัตยกรรมระดับ King of Cinema อย่างสกาลานี้ ไม่ควรจะปล่อยให้ถูกทุบทิ้ง แต่ควรนำมาพัฒนาเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการใช้งานสร้างสรรค์โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพื่อเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมนี้ไว้
ตอนนี้แสงสุดท้ายของสกาลาในบทบาทโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ก็ได้ดับไปแล้ว แต่เรายังหวังว่าจะได้เห็นแสงของสกาลาในบทบาทใหม่ ติดตามข่าวไปเราก็ตื่นเต้น ที่หลายฝ่ายออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเก็บสกาลาไว้ เป็นพื้นที่ที่สถาปัตยกรรมเดิมยังได้อยู่ร่วมกันต่อไป เพิ่มเติมคือคุณค่าที่จะสามารถเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมได้ในอนาคต

เสื้อสกาลา ตั๋วละ 200 บาท